
ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครศรีธรรมราช
ประวัติศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครศรีธรรมราช
นครศรีธรรมราชเป็นจังหวัดที่มีสถิติเด็กและเยาวชนกระทำผิดสูงสุดในภาคใต้มาเป็นเวลายาวนาน กระทรวงยุติธรรมจึงมีโครงการจัดตั้งศาลเยาวชนในจังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 โดยมีการดำเนินการขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์ ทุ่งมะม่วงค้อม เนื้อที่ 81 ไร่เศษ ทำการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ แต่เมื่อได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินดังกล่าวกระทรวงยุติธรรมเองเกิดมีปัญหาด้านงบประมาณโครงการดังกล่าวจึงต้องระงับไปแต่การที่สถิติคดีเด็กและเยาวชนกระทำผิดในจังหวัดนครศรีธรรมราชยังคงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงระยะเวลา 5 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2532 – 2536 สถิติคดีเพิ่มขึ้นถึง 113% และเป็นสถิติคดีที่สูงกว่าจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 เท่า สูงกว่าจังหวัดสงขลา 2 เท่า กระทรวงยุติธรรมจึงได้นำโครงการจัดตั้งศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะมาพิจารณาคดีอีกครั้ง และได้ขอยุติว่าสมควรรีบดำเนินการเพื่อให้สามารถเปิดทำการศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2537 โดยกำหนดให้ใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งภายในตัวอาคารศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นที่ทำการไปพลางก่อน แต่การดำเนินการตามโครงการดังกล่าวก็ประสบปัญหาเนื่องจากปรากฏว่าภายในตัวอาคารศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่มีพื้นที่ว่างเหลืออยู่และการขอเช่าอาคารสถานที่อื่นและปรับปรุงเป็นที่ทำการก็ไม่อาจทำได้เนื่องจากกระทรวงยุติธรรมมิได้ตั้งงบประมาณไว้ โครงการดังกล่าวจึงเกือบต้องระงับไปอีกครั้งหนึ่ง
ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวนครศรีธรรมราชที่ไม่ต้องการเห็นลูกหลานต้องได้รับการพิจารณาคดีด้วยกระบวนการเช่นเดียวกับผู้ใหญ่โครงการจัดตั้งศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวโดยไม่ใช้งบประมาณแผ่นดินตามข้อเสนอของชาวนครศรีธรรมราช ก็ได้รับอนุมัติจากกระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินการได้กลางปี พ.ศ.2537
แม้ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว สามารถเปิดทำการได้ภายในปี พ.ศ. 2537 แต่ในช่วงแรกก็มีอุปสรรคเนื่องจากที่ทำการซึ่งต้องใช้ปีกอาคารบางส่วนของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ไม่สามารถใช้ได้เพราะศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชมีหน่วยงานของกระทรวงยุติธรรมหลายหน่วยงานใช้พื้นที่ไปหมดแล้วกระทรวงยุติธรรมจึงให้ติดต่อขอเช่าอาคารพาณิชย์อย่างน้อย 3 คูหา จากเอกชนเพื่อใช้เป็นที่ทำการและนับว่าเป็นเรื่องโชคดีอีกครั้งที่สามารถหาได้จากผู้มีจิตใจดีที่เล็งเห็นความสำคัญของศาลเยาวชนและประสงค์ให้เกิดได้ทัน โดยยอมอุทิศให้กับทางศาลได้ใช้ตึก 3 ชั้น 3 คูหา โดยไม่คิดค่าเช่าและให้ใช้โดยไม่กำหนดเวลาแต่เนื่องจากรูปแบบอาคารศาลที่ทำการต้องปรับปรุงตกแต่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่กระทรวงยุติธรรมไม่มีงบประมาณส่วนนี้ จึงได้ระดมจากผู้มีจิตศรัทธาจำนวนหนึ่งร่วมแรงร่วมใจกันบริจาคเงิน จนสามารถปรับปรุงแล้วเสร็จและเปิดทำการได้ และอาคารศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวที่เป็นอาคารพาณิชย์ นับว่าเป็นอาคารศาลแผนก แห่งแรกของกระทรวงยุติธรรมที่สามรถเกิดขึ้นได้ในภูมิภาคและกระทรวงได้ถือเป็นแบบอย่างในการนำไปใช้เพื่อเปิดศาลแผนกในอีกหลายจังหวัดในปีต่อมา
นับตั้งแต่ศาลเปิดทำการได้พิจารณาพิพากษาคดีเด็กและเยาวชนและคดีครอบครัว จำนวนคดีนับถึงปัจจุบันประมาณ 3,000 คดี และคดีส่วนใหญ่ที่พิจารณาไปทางศาลโดยผู้พิพากษาประจำและผู้พิพากษาสมทบ ที่นั่งพิจารณาคดีร่วมกัน จะมุ่งเน้นให้โอกาสแก่เด็กและเยาวชน เพราะเราถือว่า เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดเหล่านี้ใช่ว่าจะกระทำผิดโดยสันดาน แต่เนื่องจากความบกพร่องทางร่างกายหรือจิตใจความบกพร่องทางครอบครัว สิ่งแวดล้อมไม่ดี ครอบครัวยากจน ความประมาทเลินเล่อ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ วิธีการของศาลเยาวชนจึงแตกต่างจากศาลผู้ใหญ่ โดยศาลเยาวชนมุ่งเน้นที่จะคุ้มครองและให้โอกาสแก่เด็ก นับได้ว่าเด็กและเยาวชนของจังหวัดนครศรีธรรมราชโชคดีกว่าเด็กและเยาวชนในอีกหลายจังหวัดที่ยังไม่มีศาลเยาวชนเปิดทำการ
ผู้พิพากษาสมทบของศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวถือได้ว่าเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากกับศาลเยาวชน และทุกท่านที่เข้ามาต่างก็ยอมเสียสละทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และยอมสละเวลา เพื่อเข้ามาร่วมนั่งพิจารณาแก้ไขปัญหาของเด็กและเยาวชนของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมุ่งมั่นที่จะให้เด็กและเยาวชนที่หลงผิดเหล่านั้นกลับตนเป็นคนดี เป็นผู้ใหญ่ที่ดีในวันหน้า อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สุขของสังคมของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชสืบไป
ต่อมาวันที่ 4 เดือน กรกฎาคม พ.ศ.2543 ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครศรีธรรมราช นายเฉลิมพงศ์ ขันตี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลฯ ได้ย้ายที่ทำการมาอยู่ที่ปัจจุบัน เลขที่ 53 ม. 1 ถนนนครศรีฯ – ปากพนัง ต. บางจาก อ. เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้เช่าที่ดินจากวัดมุจลินทราวาส (วัดบ่อจิก) จำนวน 97 ไร่ ณ ที่ ทำการปัจจุบัน ของศาลฯ ประกอบด้วย อาคาร 3 ชั้น และบ้านพักผู้พิพากษาหัวหน้าศาล 1 หลัง บ้านพักผู้พิพากษา 4 หลัง และอาคารที่พักข้าราชการศาลยุติธรรม 1 หลัง อาคารศาล เป็นตึก 3 ชั้น
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว เป็นศาลยุติธรรมชั้นต้น ประเภทศาลชำนัญพิเศษ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 ต่อมา พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2554 ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนครศรีธรรมราช